Lönmottagares berättelse เรื่องเล่าห้าร้อยตอนก็ไม่จบของมนุษย์เงินเดือนหญิงไทยในสวีเดน ตอนที่ 1
เกริ่นก่อนนะ
เนื่องจากโดนยุ้ยอ้อนแกมบังคับให้เขียนเรื่องวิวาทบาดถลุงระหว่างวันทำงาน แต่พอมาคิดไปคิดมาเราก็วิวาทกับชาวบ้านเขาไม่ครั้งเอง แถมเรื่องวิวาทมันก็จิ๊บ ๆ จนจำรายละเอียดเกือบไม่ได้ ทะเลาะแล้วจบเรื่องแล้วก็ลืม ๆ กันไป เลยเป็นที่หวั่นเกรงว่าบทความที่จะเขียนจะกลายเป็นเรื่องน้ำท่วมทุ่งผักบุ้งไม่มียอด
เราก็เลยตัดสินใจเขียนเรื่องเล่าห้าร้อยตอนไม่จบของมนุษย์เงินเดือนไทยในสวีเดนแทน เพราะคิดว่าจะมีรายละเอียดและความน่าสนใจในหลาย ๆ ด้าน (คิดเข้าข้างตัวเอง)
ชีวิตมนุษย์เงินเดือนที่ไหน ๆ มันก็เหมือนกันไปเสียเกือบทั้งหมด ตื่นเช้า ไปทำงาน ทำงานเสร็จ กลับบ้าน รีบเข้านอนจะได้มีแรงตื่นตอนเช้า เช้าวันรุ่งขึ้น ตื่นนอน อาบน้ำ แต่งตัว ก็ไปทำงานอีก วนไปเวียนมา เป็นแบบนี้ไปทั้งอาทิตย์ พอถึงวันศุกร์ก็ดีใจลัลล้าร่าเริงเพราะจะได้หยุดสองวัน ยิ่งวันที่ 25 ของทุกเดือนยิ่งดีใจมากเพราะเป็นวันเงินเดือนออก ยิปปี้
ท้าวความหลังมนุษย์เงินเดือนไทย
ก่อนที่เราจะตัดสินใจมาอยู่สวีเดน เราถามสามีว่า คุณสมบัติอย่างเรามีโอกาสหางานอย่างที่เราทำในประเทศไทยได้ในสวีเดนหรือเปล่า เพราะถ้าหาไม่ได้เราจะไม่ย้ายไปอยู่สวีเดน สามีบอกว่า ได้แน่นอนจ้ะที่รัก (แต่มารู้ทีหลังว่าโดนหลอก)
ที่ต้องถามแบบนี้ตั้งแต่แรกเพราะเมื่อตอนอยู่เมืองไทยเราสามารถหารายได้ได้เอง และถูกจัดอยู่ในกลุ่มคนมีรายได้สูง เมื่อมีรายได้สูง รสนิยมมันก็ต้องทะลึ่งสูงตามรายได้ไปด้วย ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูพ่อแม่ตามประสาลูกกตัญญูระดับชาติ
การมีรายได้สูงและรายจ่ายสูงมันเลยกลายเป็นวิถีชีวิตไป
และถ้าหาเงินเองไม่ได้ คนที่จะช่วยทะนุบำรุงพยุง life style ของเจ๊ได้ก็ต้องมีเงินระดับเศรษฐี มหาเศรษฐี แล้วเศรษฐีที่ไหนเขาจะมาเลือกแต่งงานกับเทพีเครื่องกลึงอย่างเรา เขาไปเลือกแต่งงานกับดาราหรือนางสาวไทยไม่ดีกว่าเหรอ
สามีเราไม่ใช่เศรษฐี เป็นแค่ข้าราชการธรรมดา แต่เป็นคนดีมีน้ำใจ แล้วถ้าเราจะย้ายจากเมืองไทยมาอยู่สวีเดน และต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตจากคนรายได้สูง รายจ่ายสูงและรสนิยมสูง กลายไปเป็นคนไม่มีรายได้ รายจ่ายและรสนิยมสูง ก็มีคำถามว่า Can love conqure all???
คำตอบที่หาได้คือ ไม่มีทาง ความรักมันไม่ทำให้ท้องอิ่มนี่คะ ความรักเอาไปซื้อกระเป๋ากุชชี่ก็ไม่ได้ ฮ่าฮ่าฮ่าฮ่า
เมื่อสามีในอนาคตยืนยันว่า Thai material girl สามารถหา "งานดี ๆ" ทำในประเทศใหม่ได้ เราก็เลยเก็บข้าวเก็บของหอบกระเป๋าหิ้วถุงโชคดีขึ้นเครื่องบินมาตั้งหลักปักฐานในสวีเดนด้วยประการฉะนี้
เริ่มหางานทำ
งานสุดท้ายที่เราทำก่อนย้ายออกจากเมืองไทยคือ เป็นผู้จัดการฝ่ายวางแผนการผลิตและจัดซื้อในบริษัทผลิตเครื่องจักรกลของญี่ปุ่น เราทำงานที่บริษัทนั้นเป็นเวลาเกือบ 10 ปี ความรับผิดชอบไล่ไปตั้งแต่สากกะเบือไปจนถึงเรือรบ ภาษาที่ใช้ในการทำงานมีตั้งแต่ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่นเรื่อยไปจนถึงภาษามือ
มาถึงสวีเดนแล้วจะหางานอะไรทำดีล่ะหว่า เอางานจัดซื้อหรือไม่ก็งานวางแผนการผลิตก็แล้วกัน
แล้วภาษาที่ใช้ล่ะ จะใช้ภาษาอะไรดี ภาษาอังกฤษก็น่าจะโอเคแล้วนะ เพราะว่าภาษาสวีเดนไม่กระดิกหูเลยแล้วก็ได้ข่าวว่าคนสวีเดนเก่งภาษาอังกฤษกันทั้งนั้น อย่างน้อยก็น่าจะพูดกันรู้เรื่องละน่า
สรุปว่า อีป้าจะหางานจัดซื้อหรือไม่ก็วางแผนการผลิตในบริษัทอินเตอร์ในสวีเดนนี่ละจ้ะ
มาถึงสวีเดนอาทิตย์แรก ๆ ก็เริ่มขึ้นทะเบียนคนหางานกับ Arbetsförmedlingen คนรับเรื่องเป็นผู้ชายแก่ ๆ อ้วน ๆ อึดอาด ๆ ลุงอ้วนถามข้อมูลอะไรก็ไม่รู้เป็นภาษาสวิดิชกับสามี แปลได้ความว่าไปเรียน SFI – skånska för invandrare มาให้จบก่อนนะแล้วค่อยออกมาหางานทำ
อ้าวววว แล้วภาษาอังกฤษมันใช้ไม่ได้หรือไงลุง
Anyway, เราก็ไปสมัครเรียน SFI อย่างที่ลุงแนะนำ แต่ระหว่างนั้นก็ไม่ละความพยายามในการหางานทำไปเรื่อย ๆ
ตำแหน่งงานว่าง ๆ ก็หาเอาตามเวปไซต์พวก stepstone, platsbanken อะไรพวกนั้น เห็นงานไหนเหมาะกับคุณสมบัติตัวเองก็ส่งจดหมายไป
"จดหมายสมัครงานเป็นกุญแจสำคัญที่จะพาเราไปสู่การสัมภาษณ์รอบแรก ถ้าจดหมายดีก็มีสิทธิถูกเรียกสัมภาษณ์ ถ้าจดหมายเขียนออกมาเฉิ่ม ๆ เชย ๆ ไม่ดึงดูดความสนใจของคนอ่าน โอกาสลงตะกร้าก็มีมาก"
คงเคยได้ยินกันมาบ้างแล้วใช่ไหมว่า คนที่มีชื่อนามสกุลต่างชาติไม่ค่อยถูกเรียกไปสัมภาษณ์หลังจากที่ส่งจดหมายสมัครงานไปแล้วประมาณ 300 ฉบับ เราก็ได้ยินได้อ่านเรื่องนี้มาเหมือนกัน พออ่านเสร็จก็ทำเอาใจฝ่อจนแทบจะยัดเสื้อผ้าใส่กระเป๋ากลับเมืองไทยไปขอตำแหน่งงานเดิมกลับมาทำ
จริง ๆ แล้ว เรื่องของเรื่องมันไม่ได้แย่ขนาดนั้นหรอก เพราะว่าเราเขียนไปสมัครในตำแหน่งงานที่ตรงกับคุณสมบัติก็ถูกเรียกไปสัมภาษณ์ทุกที แต่จะได้งานหรือไม่ได้งานมันอีกเรื่องหนึ่ง
ติดเรื่องเขียนจดหมายสมัครงานไว้ก่อนนะจ๊ะ ไว้โอกาสดี ๆ ขอมานั่งเล่าให้ฟังว่าเขียนแบบไหนถึงจะหลอกลวงฝ่ายบุคคลให้เรียกเราไปสัมภาษณ์รอบแรกได้
โปรดติดตามตอนต่อไป - เรียน SFI
พี่ไก่
มกราคม 2554
|