หนทางสู่การเป็นผู้ช่วยกุ๊ก ตอนที่ 2
คนที่จบหลักสูตรนี้จะได้ใบประกาศเป็นผู้ช่วยกุ๊ก หากอยากเป็นกุ๊กต้องเรียนเพิ่มอีก และต้องมีประสบการณ์การทำงานอย่างน้อยหนึ่งหรือสองปีก่อนจะเรียนได้ ซึ่งรายละเอียดมีในเว็บของกรมแรงงาน หลักสูตรนี้ถือได้ว่าเป็นหลักสูตรพื้นฐาน เมื่อจบหลักสูตรนี้แล้วไปเรียนต่อเฉพาะทางเป็นนักโภชนาการ หรืออื่นๆ ก็ได้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องหมกตัวอยู่แต่ในครัวอย่างเดียว การเรียนไม่ได้เรียนทำอาหารอย่างเดียว แต่ต้องเรียนเกี่ยวกับสุขอนามัย กฏหมายต่างๆ และการจัดการด้วย
รายละเอียดวิชา
Orientering
เป็นการทำความคุ้นเคยกันในห้องเรียน ใช้เวลาสี่อาทิตย์ ทุกๆ วันครูจะมีแบบทดสอบนั่นนี่มาให้ทำ ทั้งปัญหาเชาว์ ทั้งทำข้อสอบทดสอบความสามารถของแต่ละคน เพื่อที่ครูจะได้รู้จุดอ่อนจุดแข็งของนักเรียน และวางแผนการเรียนของแต่ละคนได้ถูกทาง ซึ่งข้อสอบก็มีทั้งทดสอบภาษา การคำนวน บวก ลบ คูณ หาร และการแก้ไขสถานการณ์สมมุติต่างๆ
Varmkök
มีทั้งทฤษฏีและปฎิบัติ แต่ที่โรงเรียนจะเน้นทฤษฏีซะมากกว่า ตอนนั้นที่เรียนเข้าครัวอาทิตย์ละสองวัน ที่เหลือนั่งเรียนในห้อง วิชานี้จะเป็นการทำอาหารจานร้อน ต้ม ผัด แกง ทอด อบ และซอสร้อนต่างๆ เริ่มตั้งแต่พื้นฐานไปจนถึงออกมาเป็นจานพร้อมเสิรฟ อาหารที่ทำส่วนมากเป็นอาหารสวีเดน husmanskost ครูจะเป็นคนกำหนดว่าใครจะได้ทำอะไรในแต่ละวัน ทำเสร็จจัดโต๊ะ แล้วแต่ละคนก็จะอธิบายวิธีทำของตัวเอง พร้อมทั้งส่วนประกอบที่ใช้ จากนั้นก็กินร่วมกัน แล้ววิจารณ์รสชาติอาหารของกันและกัน ว่าอันไหนต้องปรับลด หรือเพิ่มอย่างไร
ทำแล้วก็แบ่งๆ กันกิน
วัตถุดิบและส่วนผสมต่างๆ ครูจัดการให้หมด นักเรียนแค่เขียนวิธีการทำสั้นๆ ใส่กระดาษเข้าห้องครัวไป เพราะครูห้ามเอาหนังสือเรียนเข้า การแต่งกายต้องถูกต้องตามมาตรฐานทั่วไป ผมเผ้าเก็บให้เรียบร้อยด้วยหมวกคลุมผม รองเท้าต้องเป็นแบบที่ใส่ในครัวเท่านั้น ห้ามใส่ออกข้างนอก เครื่องประดับห้ามใส่ เล็บห้ามทา แต่งหน้าห้ามเข้ม โทรศัพท์ห้ามพก นี่คือกฎที่ทุกคนต้องปฎิบัติตาม ใครไม่ทำ ห้ามเข้าห้องครัว
ข้อสอบของวิชานี้มีทั้งทฤษฏีและปฏิบัติ ซึ่งทฤษฏีก็จะเป็นเรื่องส่วนประกอบของอาหาร และซอสต่างๆ วิธีการปรุงและอุณหภูมิที่ใช้สำหรับอาหารชนิดต่างๆ เช่น เนื้อ หมู สัตว์ปีก และสัตว์น้ำ ฯลฯ
สอบปฏิบัติก็ทำอาหาร โดยครูจะแจกรายการอาหารให้มาหัดทำล่วงหน้าหนึ่งอาทิตย์ราวๆ 12 อย่าง ถ้าจำไม่ผิด ไม่มีใครรู้ว่าจะได้ทำอะไร ดังนั้นจึงต้องฝึกทำทุกอย่าง และจำส่วนผสมให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะครูจะใช้วิธีจับฉลากในวันสอบเลย จากนั้นก็จะให้เขียนรายละเอียดเครื่องปรุง และวิธีทำสั้นๆ พร้อมวาดรูปการจัดจานส่ง โดยไม่ให้ดูหนังสือหรือใช้ตัวช่วยใดๆ จากนั้นก็เข้าห้องครัวเพื่อปฏิบัติการ โดยอาหารนั้นต้องทำให้เสร็จภายในเวลาที่กำหนดด้วย
การให้คะแนนจะดูจากส่วนประกอบของอาหารว่าถูกต้องไหม ปริมาณได้ตามที่กำหนดหรือเปล่า รสชาติ สีสัน การจัดวางก่อนเสริฟ ครูจะเดินเข้าเดินออกตลอดเวลาพร้อมกับแฟ้มในมือ เพื่อดูว่านักเรียนทำงานถูกต้องตามขั้นตอนไหม ดูการหั่น ซอย ผัด ทอด ดูว่าการใช้เครื่องมือเป็นยังไง ดูเรื่องการแต่งกาย ความสะอาด การจัดการทั้งในครัว และในห้องล้างจาน
ครัวเล็กที่โรงเรียน
Livsmedels Hygien
อันนี้เรียนเกี่ยวกับสุขอนามัย ทั้งของส่วนผู้ประกอบอาหาร ของสถานที่ทำงาน การจัดเก็บวัตถุดิบ เรื่องเชิ้อโรคต่างๆ การขนส่งสินค้า และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับท่าทางในการทำงานที่ถูกต้อง เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องสุขภาพ นอกจากนี้ยังมีเรื่องกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวกับงานในสาขานี้ด้วย การสอบมีแค่ทฤษฏี
Livsmedelskunskap
เรียนวิชานี้เราต้องรู้จักอาหารประเภทต่างๆ ทั้งสดและแห้ง ทั้งพวกเนื้อและผัก รวมทั้งอาหารกระป๋อง เราต้องรู้จักทั้งประโยชน์และโทษของมัน และยังมีกฎบังคับต่างๆ เกี่ยวกับขบวนการผลิต ขบวนการขนส่ง และการจัดเก็บ ตอนสอบจะมีผักต่างๆ ที่มีลักษณะคล้ายกัน แต่คนละชื่อมาให้ดู แล้วให้บอกชื่อ และสารอาหารที่ได้ วิธีการปรุง และให้แยกหมวดหมู่ของพืชผักต่างๆ บอกวิธีการจัดเก็บในอุณหภูมิที่เหมาะสม เป็นต้น ซึ่งถ้าจะพูดกันจริงๆ แล้ว แต่ละวิชาก็จะมีความสัมพันธ์กันอยู่เกือบทุกเรื่อง เพราะเนื้อหาหลายๆ ตอนก็จะเหมือนๆ กัน เวลาอ่านมันจึงเหมือนเป็นการทบทวนบทเรียนไปเรื่อยๆ
Servering A
อันนี้เป็นการเรียนเกี่ยวกับการบริการในร้านอาหาร การจัดโต๊ะ การเสริฟ ซึ่งเวลาสอบครูจะแจกกระดาษในวันสอบเลย ให้ดูว่าต้องทำอะไรบ้าง เช่น ให้จัดโต๊ะสำหรับอาหารเช้า อาหารกลางวัน หรืองานเลี้ยง จากนั้นก็จะให้เราเลือกรายการอาหารและเครื่องดื่มที่เข้ากัน รวมทั้งของหวานด้วย แล้วก็ทำการเสริฟ บางคนก็จะได้แบบครูกำหนดอาหารและเครื่องดื่มให้ นักเรียนเป็นคนจัดภาชนะให้เหมาะสม โดยครูจะสมมุติตัวว่าเป็นแขก การให้คะแนนจะดูการจัดโต๊ะ ตำแหน่งแก้วสำหรับเครื่องดื่มชนิดต่างๆ ตำแหน่งจาน ชาม ช้อน ซ้อม และมีด การเสริฟ การแนะนำอาหาร การถืออุปกรณ์ต่างๆ และดูว่าการเสริฟเข้าถูกที่ถูกทิศทางหรือไม่ นอกจากนั้นก็ยังมีการสนทนาระหว่างการบริการด้วย
โปรดติดตามตอนต่อไปค่ะ...
พิณ
เขียนเล่าเรื่องไว้เมื่อ ตุลาคม 2553
|