Yui in Lund

Study in Sweden - ชีวิตการเรียนในสวีเดน

เรื่องเล่าประสบการณ์เรียนภาษา, กับโครงการต่าง ๆ, มหาวิทยาลัย, เทียบวุฒิในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ และนานาสาระที่เกี่ยวข้อง

<< Back


เส้นทางสู่การเป็น Farmaceut ในสวีเดน

น้องยุ้ยจีบให้เขียนประสบการณ์การเรียนและการทำงานในสวีเดน ซึ่งตอนนั้นที่น้องส่งข้อความมายังไม่ได้รับปากเพราะภาระกิจรัดตัว ทั้งเรียน ฝึกงานและเลี้ยงลูก จนมาถึงวันนี้ที่คิดว่าน่าจะเป็นช่วงที่ว่างที่สุดก่อนจะเริ่มทำงานอีกรอบในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ี้


ชื่อเจค่ะ อยู่ที่นี่ได้ห้าปีแล้วหล่ะ เดือนมีนาคม (ปี 2555) ที่จะถึงนี้ก็จะเริ่มทำงานในร้านขายยา (Apotek) ในตำแหน่ง Farmaceut ประจำร้านยาค่ะ ได้ทำงานใน Apotek ที่ใหญ่ที่สุดและมีสาขามากที่สุดในประเทศสวีเดน ที่มีชื่อว่า Apoteket AB ภูมิใจมากค่ะกับสิ่งที่ทุ่มเทมาตลอดห้าปี ตอนนี้เป็นคุณแม่ลูกสาม (ลูกตัวเองหนึ่ง และลูกติดสามีอีกสอง ซึ่งใครที่เป็นคุณแม่ในประเทศสวีเดนคงจะรู้ว่ายุ่งแค่ไหน) ก่อนจะย้ายมาอยู่ที่สวีเดนทำงานในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งมานานถึงเก้าปี ซึ่งงานที่จะเริ่มทำในไม่ช้านี้ก็คือสายงานเดิมที่เคยทำมาก่อน หลายๆ คนคงคิดว่าเจน่าจะมีเส้นทางที่ง่ายกว่าคนอื่นๆ เพราะงานที่เธอทำก็เป็นสายงานเดิมที่มีวุฒิมาอยู่แล้วจากไทย ซึ่งต่างกับอีกหลายๆ คนที่เขาต้องมาเริ่มใหม่ มองผิวเผินแล้วอาจจะคิดว่าใช่ แต่จริงๆ แล้วเส้นทางมันไม่ได้หมูๆ เลย

ปกติคนสวีเดนเขาต้องจบ ม.หก สายวิทย์ ก่อนที่จะได้เรียนสายการแพทย์ ซึ่งก็คล้ายๆ กับบ้านเรา ซึ่งก็หมายความว่าเส้นทางนี้ได้กรองคนมาแล้วในระดับหนึ่ง ซึ่งถ้าเทียบกับเจที่มาอยู่นี่ได้ปีที่สาม(ในตอนนั้น) แล้วต้องไปเรียนร่วมห้องกับชาวสวีเดนคนอื่นๆ ในระดับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อว่าเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของประเทศสวีเดนในสายการแพทย์ เส้นทางนี้มันวัดกันด้วยใจน่าจะถูกกว่า เพราะประเทศสวีเดนไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเรียกชื่อสิ่งต่างๆ ในด้านการแพทย์เหมือนประเทศเรา เขามีชื่อที่ใช้เรียกในภาษาของเขา และเจที่จบมาแล้วสิบสามปีทุกสิ่งทุกอย่างแทบจะเรียกได้ว่าเริ่มต้นใหม่เกือบทั้งหมด แต่สิ่งที่เจคิดว่าเจแตกต่างจากคนอื่นก็คือ ''เส้นทางของเจชัดเจนขึ้นในทุกๆ วันที่เจพยายาม''

ตั้งแต่วันที่ได้รับผลการเทียบวุฒิว่าสิ่งที่เรียนมาสามารถทำงานอะไรได้ในสวีเดน เงื่อนไขที่เขาให้เจก็อ่านทุกวันจนขึ้นใจว่า เราต้องทำอะไรบ้างก่อนที่จะไปถึงจุดหมาย นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ทุกคนต้องมี คือเป้าหมายและแผนที่ถึงเป้าหมาย เจบอกเขาไปหมดว่าฉันจะทำแบบนี้แหล่ะแล้วฉันจะได้ทำงานนี้ ซึ่งเป็นธรรมดาที่หลายๆ คนคิดว่าเราเพ้อ เพราะขนาดคนสวีเดนแท้ๆ เขายังไม่ได้ทำเลย แล้วประสาอะไรกับต่างชาติอย่างเธอ ประโยคนี้จะได้ยินประจำ แต่เจเชื่อในกระดาษเทียบวุฒิตรงหน้าที่เจถือไว้ในมือ ใครจะพูดอะไรก็ฟัง แต่เชื่อและมั่นใจมากๆ กับผลเทียบที่ออกมาว่าถ้าทำแบบนี้แหล่ะฉันจะได้ทำงาน และอีกสิ่งหนึ่งที่ทุกคนต้องมีก็คือ ชัดเจนในสิ่งที่คุณทำ เพราะหลายครั้งคุณจะโดนคำพูดจากคนอื่นๆ มาทำให้เป้าหมายของคุณไขว้เขว มันเป็นไปไม่ได้หรอก หลายคนพยายามแล้ว เธอน่าจะลองเส้นทางที่มันง่ายกว่านี้ และอื่นๆ แต่ถ้าคุณชัดเจนในสิ่งที่ทำ ชัดเจนในความฝันและเป้าหมาย ถึงใครๆ จะพูดกี่พันครั้งก็ไม่สามารถทำลายเป้าหมายของคุณได้ นอกจากตัวคุณเอง

เจก็ไม่ใช่พระอิฐพระปูนที่จะชัดเจนในเป้าหมายตลอดเวลา มีหลายครั้งเหมือนกันที่นึกท้อ ผิดหวัง เหนื่อย ร้องไห้ เหมือนกันคุณๆ คือเราที่เคยเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว มีงาน บ้าน รถ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ไทย แล้วต้องมาเริ่มต้นใหม่ที่นี่แถมยังมีครอบครัวที่ต้องรับผิดชอบ เครียดกดดันนะคะ มากด้วย หลายครั้งที่คิดว่าถ้ามันยากเย็นนักก็ขอหางานอะไรทำง่ายๆ พอให้ได้เงินก็เพียงพอแล้ว แต่ก็มีความคิดหนึ่งที่ขึ้นมาต้านว่า ''พ่อแม่หาเงินส่งเสียให้เรียนเพื่อหวังจะให้ลูกเป็นนาย (มีหน้าที่การงานที่ดี) กู้ทุกอย่าง (ยกเว้นระเบิด) เพื่อลูกจะได้เรียน แล้วตัวลูกในวันนี้จะมาท้อเพียงแค่นี้เหรอ'' ทุกครั้งที่ท้อเจจะใช้ประโยคนี้มากระตุ้นให้ตัวเองสู้ในทุกๆ ครั้ง ''ค้นหากำลังใจสิ่งที่จะผลักดัน'' ให้พบนะคะ

 

ผลเทียบวุฒิจาก Socialstyrelsen

บุคคลากรสายการแพทย์ทุกคนในประเทศนี้อยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานรัฐที่มีชื่อว่า Socialstyrelsen และชาวต่างชาติที่ย้ายมาอยู่ที่นี่อย่างเราก็เช่นกัน ถ้าต้องการทำงานในสายเดิมก็ต้องส่งวุฒิการเรียนต่างๆ รวมทั้งผลเทียบจาก VHS และ HSV (สองอันนี้ไม่ขอพูดถึง แต่คิดว่าหารายละเอียดจากท่านอื่นๆ ได้) ไปที่หน่วยงานดังกล่าว ผลเทียบจาก Socialstyrelsen ที่ได้บอกว่าวุฒิที่เรียนมาเทียบได้กับ Farmaceut ของที่นี่ และขั้นตอนเพื่อที่จะได้ใบประกอบวิชาชีพคือ

  1. จบซาสเบีย SAS B หรือ ผ่านการสอบที่เรียกว่า Tisus
  2. ผ่านการสอบวัดความรู้ในวิชาเภสัชวิทยา (Farmacologi)
  3. ฝึกงาน 20 อาทิตย์ และเรียนวิชา Farmakoterapi och Samhällfarmaci แบบทางไกลกับทางมหาวิทยาลัยอุปซอล่า พร้อมทั้งสอบวิชาย่อยอีกสองวิชากับทางสถานที่ฝึกงาน (ช่วงนี้หินที่สุดฝึกงานก็ทั้งวันแล้วยังต้องแบ่งเวลาเตรียมตัวสอบด้วย ที่สำคัญมีลูกน้อยที่ต้องดูแลด้วยค่ะ)

สามขั้นตอนเองค่ะ ดูเหมือนจะใช้เวลาสั้นๆ แต่แค่ขั้นตอนแรกดิฉันก็ใช้เวลาไปแล้วสามปี (เหอ เหอ) เพราะเมืองที่อยู่ไม่มีคอร์สเร่งรัดที่คุณจะสามารถเรียนสเวนสกาให้จบซาสภายในเวลาอันสั้นเหมือนเมืองใหญ่หลายๆ เมือง ฉะนั้นขอแสดงความเสียใจกับท่านที่อยู่เมืองเล็กทุกท่านที่อาจจะใช้เวลานานหน่อยกว่าจะได้จบซาส แต่ก็ขอแสดงความยินดีไปด้วยในคราวเดียวกัน เพราะคุณจะได้มีโอกาสเรียนรู้วัฒนธรรม สังคม ผู้คนและอีกมากมาย และในเวลาเดียวกันคุณก็ทำใบขับขี่ไปด้วยก็ยังได้

 

By Jay
Mars 2012


** ติดตามอ่านคำแนะนำเรื่องยาและสุขภาพในสวีเดนที่พี่เจเขียนได้ที่ Ruan-Ya on Facebook

 

 

 

<< Back

Go to top
© 2012 All rights reserved. Yui in Lund@Sweden. Thai Experiences : Diary : Swedish : Photos : Hot info : Links : Guest book
eXTReMe Tracker