Yui in Lund

Study in Sweden - ชีวิตการเรียนในสวีเดน

เรื่องเล่าประสบการณ์เรียนภาษา, กับโครงการต่าง ๆ, มหาวิทยาลัย, เทียบวุฒิในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ และนานาสาระที่เกี่ยวข้อง

<< Back


คุณต้องเรียนรู้ภาษาของเขา Swedish - SFI

ดีจ้า พี่เพิ่งมาอยู่ ยังไม่มีประสบการณ์อะไรมากมาย ที่แน่ๆ การปรับตัวในการใช้ชีวิตในต่างแดนมันไม่ง่ายอย่างที่คิด หลายคนอาจจะคิดว่าการมาอยู่เมืองนอกนั้นแสนสบาย ขอบอกเลยว่าไม่ใช่เลย คุณต้องปรับตัวหลายๆ ด้าน ทั้งเรืองภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี อากาศ อาหารการกิน การใช้ชีวิตคู่ซึ่งมีความแตกต่างกันของภาษา วัฒนธรรม คุณต้องใช้ความอดทนมากพอสมควร ถึงจะทำให้อุปสรรคที่อยู่ตรงหน้า สามารถผ่านพ้นไปได้

ส่วนเรื่องภาษา สวีเดนเป็นประเทศที่มีหลักสูตรให้ผู้ที่ย้ายถิ่นฐานมาอาศัยในสวีเดนได้ศึกษาภาษาสวีดิช หรือที่เราเรียกกันว่า svenska นั่นเอง ซึ่งเป็นข้อดี แต่ขอบอกการเรียนภาษาก็ไม่ง่าย เพราะในชีวิตเรา ส่วนใหญ่เราก็ใช้ภาษาแม่ นั่นก็คือภาษาไทยมาตลอดชีวิต มีโอกาสได้ใช้อังกฤษบ้างก็ไม่มากเท่าไหร่ เรียนมาตั้งแต่ประถม มัธยม ปริญญาตรี ปริญญาโท ก็ใช่ว่าจะพูดได้เก่งกาจมากมาย แล้วนี่อะไร ต้องเรียนภาษาที่สามหรือที่สี่สำหรับบางคนอีก

 

"ถามว่าทำไมต้องเรียนนะรึ ไม่เรียนได้ไหม ขอตอบว่าไม่เรียนก็ได้ แต่คุณก็จะไม่มีงานที่สวีเดนทำด้วยนะซิ เพราะการจะทำงานที่สวีเดน คุณต้องรู้ภาษาของเขา พี่เองอยากทำงานเร็วๆอย่างที่ใจต้องการ ไม่อยากเป็นภาระของสามี แต่ก็ต้องเรียน และเรียนก่อน งานถึงจะตามมาทีหลัง"

 

การเรียนภาษาสวีดิชเริ่มต้นเราก็ต้องไปสมัครเรียนก่อน ถ้าใครไม่รู้ว่าต้องไปที่ไหน ก็ให้คนใกล้ตัวนั่นแหละไปติดต่อให้ หรือสอบถามจาก kommun ที่เราอยู่ว่าต้องไปสมัครที่ไหน? การยื่นใบสมัครก็ต้องมีการกรอกข้อมูลเกี่ยวกับตัวเราว่าเราเรียนมาจากเมืองไทยกี่ปี หมายเลขประจำตัว 10 ตัวของสวีเดนซึ่งเราจะได้หลังจากที่เราไปลงทะเบียนเป็นพลเมืองของเขาเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งที่อยู่ที่สวีเดน เพราะหลังจากเราสมัคร เขาจะส่งกำหนดการเปิดเทอมและวันปฐมนิเทศมาให้ตามที่อยู่ที่เราให้ไป

 


โรงเรียน T4 อยู่ที่เมือง Hässleholm

 

ในวันปฐมนิเทศเราจะรู้ว่าเราจะได้เข้าเรียนระดับไหน โดยข้อมูลระดับการเรียนจากเมืองไทยมีความสำคัญมาก เพราะเขาจะจัดให้เราเข้าไปอยู่ระดับไหนในการเรียนภาษาสวีดิชนั่นเอง ซึ่งการเรียนภาษาสวีดิชมีทั้งหมด 4 ระดับ คือ a, b, c, และ d ถ้าไม่มีพื้นฐานภาษาอังกฤษเลย ก็จัดไป a ถ้าจบมัธยมก็จัดไป b ถ้าจบปริญญาตรีมาก็จัดไป c ไม่มีมากกว่านี้ จากนั้นก็เริ่มต้นเรียนไป

พี่เข้ามาเรียนภาคเรียนฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งการเรียนจะมี 2 ภาคเรียนต่อปี อีก 1 ภาคเรียนก็คือภาคเรียนฤดูใบไม้ผลิ แต่จะเปิดเทอมประมาณกลางๆ เดือนมกราคมของทุกปี ส่วนภาคเรียนแรกของพี่เปิดเทอมไปเมื่อ 11 สิงหาคม 2010 ที่ผ่านมานี่เอง บางคนย้ายมาอยู่สวีเดนไม่ตรงกับช่วงที่เปิดเรียนของแต่ละภาค ก็ต้องรอจนกว่าจะเปิดเทอม แต่ก็ต้องไปยื่นใบสมัครไว้ก่อนนะ ไม่ว่าจะได้เรียนเลยหรือต้องรอก็ตาม ตัวพี่เองให้สามีไปติดต่อที่โรงเรียนไว้ก่อนว่าจะเปิดเทอมประมาณเมื่อไหร่ แล้วพี่ก็กะระยะเวลาในการลาออกจากงานที่เมืองไทย เพื่อที่จะได้ไม่ต้องรอนานก่อนที่จะได้เรียน แต่ก็ต้องเผื่อเวลาเพื่อให้ได้มีการปรับตัวของเราเอง (ปรับเวลาจากเมืองไทย เป็นสวีเดน) เวลาไปเรียนจะได้ไม่ง่วงหรือไปนั่งหลับในห้องเรียน

ตอนนี้รวมๆ แล้วพี่ก็เรียนมา 2 เดือนกว่าๆ ในห้องเรียนก็จะมีเพื่อนหลากหลายประเทศ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นพวกที่มาจากประเทศที่มีการสู้รบกันในประเทศ หรือก็คือพวกอิสลามนั่นเอง เพื่อนๆ ที่เรียนอยู่ด้วยกัน เช่น โคโซโว อิรัก อิหร่านโรมาเนีย สเปน ฝรั่งเศส มีเอเชียบ้างก็จากจีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ สรุปก็คือหลากหลายเชื้อชาติจริงๆ แต่ก็ถือว่าสนุกไปอีกแบบ มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไง ส่วนใหญ่ทุกคนจะรู้จักเมืองไทย และที่ขึ้นชื่อคืออาหารไทยนั่นเอง แหม... รู้สึกภูมิใจจังที่เกิดเป็นคนไทย ถึงแม้จะพลัดถิ่นมาอยู่ถึงสวีเดนก็เถอะ พี่โชคดีหน่อยมีน้องคนไทยเรียนด้วยกันอีกคนนึง แบบว่ามีเพื่อน อย่างน้อยก็ได้คุยภาษาไทยกันบ้าง

ขอบอกว่าการออกเสียงของภาษาสวีดิชนี่ยากใช่เล่น พี่ยังมีปัญหากับ O และ U อยู่เลย อ้อแล้วต้องจำเยอะมากๆ ทั้งพวกกลุ่มต่างๆ ของกริยา คำนำหน้าของศัพท์แต่ละคำซึ่งมีหลายกลุ่มจริงๆ พี่เรียนไปก็จำได้บ้างไม่ได้บ้าง การเรียนภาษาสวีดิชต้องใช้เวลามากพอสมควรกว่าที่จะพูดได้ พี่เองเริ่มพูดได้บ้างแล้วล่ะ พอนึกภาษาสวีดิชไม่ออกก็เป็นอังกฤษ ซึ่งภาษาอังกฤษจะเป็นตัวถ่วงที่จะทำให้เราพูดสวีดิชได้ช้า เพราะเราจะคิดเทียบกับอังกฤษอยู่ตลอด แถมด้วยแปลไปเป็นไทยอีกทอดนึง

อ้อที่สำคัญคุณครูในห้องเรียนไม่พูดภาษาอังกฤษจ้า สอนเป็นสวีดิชไปเลย เพื่อให้เราเข้าใจและคุ้นเคยให้มากที่สุด มีเหนื่อยบ้างเวลาที่เรียนแต่ก็ไม่ถึงกับท้อนะ สรุปว่าเรียนๆ และเรียนแล้วก็ต้องสอบให้ผ่านในแต่ละระดับ ไปจนกว่าจะผ่านระดับ d แล้วจึงจะได้ใบประกาศ จากนั้นก็สามารถนำไปเรียนต่อในด้านอื่นๆ ต่อไป หรือหางานทำได้ในบางสาขา

 


ออกไปทัศนศึกษากับโรงเรียน

 

สำหรับพี่เป็นพยาบาลอยู่เมืองไทย มาที่นี่ก็ต้องเรียนภาษาสวีดิชเช่นกันกับคนอื่นๆ ที่คิดจะมีงานทำมีรายได้เป็นของตัวเอง ตัวพี่เองเริ่มเรียนจากระดับ c โรงเรียนของพี่ชื่อ T4 อยู่ที่เมือง Hässleholm ตอนนี้ก็เรียนไปได้เยอะพอสมควร อีกไม่นานก็จะสอบแล้วล่ะ การเรียนในแต่ละระดับจะใช้เวลา 1 เทอม ต่อ 1 ระดับ

ถ้าพี่จบภาษาสวีดิชขั้นพื้นฐานแล้ว ก็ต้องไปเรียนต่อภาษาสวีดิชขั้นสูงขึ้นไป ซึ่งจะมีอยู่ในหลักสูตรของนักเรียนมัธยมที่สวีเดน ซึ่งมี 4 ระดับ ก็คือ a, b, c และ d เช่นกัน แต่พี่ต้องเรียนแค่ a และ b ถ้าจบระดับนี้แล้วก็เตรียมตัวอ่านหนังสือเพื่อสอบเอาใบประกอบวิชาชีพเลยค่ะ ถ้าสอบผ่านก็จะได้ใบประกอบวิชาชีพมากอดและได้ทำงานเป็นพยาบาลที่สวีเดน แต่ถ้าเราไม่มั่นใจก็สามารถไปเรียนหลักสูตร 1 ปี สำหรับพยาบาลที่จบพยาบาลมาจากประเทศอื่นๆ นอก eu เพื่อเตรียมตัวเองให้พร้อมในการสอบเอาใบประกอบวิชาชีพ รวมทั้งเรียนรู้ระบบสาธารณสุขของประเทศสวีเดนไปด้วย

สรุปถ้าเราจบพยาบาลมาจากเมืองไทย อยากมาทำงานพยาบาลที่สวีเดน ใช้เวลาไปกับการเรียนอย่างน้อย 3 ปี ถึงจะได้ทำงาน

"ตอนนี้พี่ก็ต้องทำตามขั้นตอนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ทำงานนั่นแหละ อ้อที่สำคัญอย่าลืมส่งวุฒิของเราไปเทียบด้วย เขาจะบอกได้ว่าการศึกษาของเราเป็นยังไง พอเพียงที่จะใช้ทำงานที่สวีเดนไหม หรือต้องเรียนอะไรเพิ่มเติมบ้าง"

ไว้พี่มีข้อมูลอะไรใหม่ จะมาบอกให้ทราบจ้า ตอนนี้ต้องร้องเพลงรอไปก่อนเด้อ....

จากพี่จุ๊กจ้า

เขียนเล่าเรื่องไว้เมื่อ ตุลาคม 2553

 

ลิ้งค์ที่น่าสนใจ:

Evaluation of Foreign Degrees (Swedish) - เทียบวุฒิปริญญาตรีจากประเทศไทย (ภา่ษาไทย) - Application form

Verket för högskoleservice (VHS) เทียบวุฒิ ม. ปลาย (Swedish)

Skatteverket - กรมสรรพากร (ขอเลขประจำตัว, Personbevis)

หลักสูตรเพื่อการเรียนภาษาสวีเดนสำหรับคนต่างด้าว (sfi)

 

 

 

<< Back

Go to top
© 2010 All rights reserved. Yui in Lund@Sweden. Thai Experiences : Diary : Swedish : Photos : Hot info : Links : Guest book
eXTReMe Tracker